ลักษณะวรรณคดีสมัยรัชกาลที่ 4


ถึงแม้การเกี่ยวข้องกับประเทศตะวันตกจะทำให้สภาพความเป็นไปของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปหลายประการดังกล่าวมาแล้ว  แต่อิทธิพลตะวันตกยังไม่มีผลกระทบต่อวรรณคดีมากนัก  ทั้งนี้เป็นเพราะกวีผู้สร้างสรรค์งานวรรณคดีในรัชกาลที่  4  ส่วนมากมีผลงานต่อเนื่องมาจากรัชกาลที่  3  และกวีที่มีชื่อเสียงขึ้นใหม่ในรัชกาลที่  4  ก็ยังคงยึดแนวการประพันธ์และความคิดของกวีรุ่นก่อน ๆ เป็นส่วนใหญ่ การเคลื่อนไหวทางวรรณคดีในรัชกาลนี้ที่เห็นได้ชัดบางประการมีดังนี้
          1.ร้อยแก้วเริ่มมีบทบาทมากขึ้น  ร้อยแก้วซึ่งเคยจำกัดอยู่ในประเภทนิทาน  นิยาย  กฎหมาย  พงศาวดารและศาสนา ได้ขยายออกไปเป็นสารคดี  ความเรียงอธิบาย  จดหมายเหตุการณ์เดินทางและหนังสือพิมพ์  นอกจากนี้ภาษาร้อยแก้วยังได้รับการเอาใจใส่ปรับปรุงให้ถูกต้องตามหลักภาษา  กะทัดรัด  ความหมายกระชับรัดกุมและมีความไพเราะ
          2. มีเนื้อหาขยายออกไปถึงเรื่องราวของประเทศตะวันตก  เช่น  นิราศลอนดอน จดหมายเหตุ เรื่องราชทูตไทยไปลอนดอนของหม่อมราโชทัย
          3. มีการแปลเรื่องอิงพงศาวดารจีนเพิ่มขึ้นอีก  12  เรื่อง  มากกว่าที่เคยแปลไว้ในรัชกาลก่อน ๆ
          4. มีการออกหนังสือพิมพ์ทั้งของทางราชการและเอกชน  ของทางราชการคือ ราชกิจจานุเบกษาและของเอกชนอีก 7  ฉบับ  ราชกิจจานุเบกษาลงพิมพ์ข่าวสารและประกาศทางราชการตลอดจนกฎหมายต่าง ๆ
          5. มีการซื้อขายลิขสิทธิ์วรรณกรรม  หมอบรัดเลย์ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนิราศลอนดอนเป็นเงิน  400  บาท เมื่อ พ.ศ.2405  นับเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ครั้งแรกในประเทศไทย
          6. มีการพิมพ์หนังสือวรรณคดีสำคัญจำหน่ายแพร่หลาย  เช่น  หมอบรัดเลย์พิมพ์เรื่องสามก๊ก